ขนมไทย
สำหรับใครที่อยากเข้าครัวทำขนมไทยเองดูบ้าง เราได้รวบรวมเมนูขนมไทย 15 ชนิด ที่บอกทั้งสูตรและวิธีทำให้แล้ว
1. บัวลอยไข่หวาน

บัวลอยสูตรขนมไทยที่หาทานได้ง่าย ถูกใจทุกเพศทุกวัย เพราะด้วยเนื้อบัวลอยแบบเหนียวนุ่มและสีสันชวนรับประทาน ตัดด้วยน้ำกะทิหวานมัน กับไข่หวานยิ่งทำให้ได้รสชาติที่เข้ากัน
ส่วนผสมตัวแป้งบัวลอย
- แป้งข้าวเหนียว 100 กรัม
- แป้งมัน 10 กรัม
- สีผสมอาหาร
- น้ำเปล่า
ส่วนผสมน้ำกะทิ
- หางกะทิ 2 ถ้วย
- หัวกะทิ 2 ถ้วย
- น้ำตาลปี๊บ 100 กรัม
- น้ำตาลทราย 80 กรัม
- เกลือป่น 1/4 ช้อนโต๊ะ
- ไข่ไก่
วิธีทำบัวลอยไข่หวาน
- เริ่มกันที่ทำแป้งบัวลอย ใส่แป้งข้าวเหนียวลงในชามผสม ตามด้วยแป้งมัน และสีผสมอาหาร ในขั้นตอนนี้หากใครต้องการทำแป้งบัวลอยหลายสี สามารถแยกชามผสมและแบ่งเทสีผสมอาหารตามที่ต้องการได้เลยค่ะ
- หลังจากนั้นค่อยๆ เติมน้ำเปล่าลงไป พร้อมกับนวดแป้งไปด้วย ใส่จนครบ 8 ช้อนโต๊ะ หรือจนรู้สึกว่าเนื้อแป้งมีความเนียนนุ่ม
- นำแป้งมาปั้นเป็นก้อนกลมๆ ขนาดประมาณ 1 ซม. ไม่ควรปั้นขนาดใหญ่มาก เพราะเมื่อแป้งสุกตัวแป้งจะขยายใหญ่ขึ้นอยู่แล้ว หลังจากนั้นนำไปต้มในน้ำที่เดือดจัด เมื่อแป้งลอยตัวขึ้นมาให้ช้อนแป้งขึ้นมาพักไว้ในน้ำเย็น
- เตรียมทำน้ำกะทิ โดยนำหางกะทิขึ้นตั้งเตาโดยใช้ไฟกลาง ตามด้วยใส่น้ำตาลปี๊บ น้ำตาลทราย และเกลือ คนส่วนผสมทั้งหมดให้เข้ากัน
- ใส่ไข่ลงในกะทิทีละฟอง ระวังอย่าให้ไข่แตก เมื่อไข่สุกแล้วตักขึ้นมาพักทิ้งไว้
- เติมหัวกะทิลงไปในน้ำกะทิที่เราต้มเอาไว้แล้ว คนทั้งหมดให้เข้ากัน หลังจากนั้นจึงนำแป้งบัวลอยใส่ลงไปในน้ำกะทิ พร้อมกับต้มทิ้งไว้ให้น้ำกะทิซึมเข้าไปในแป้งบัวลอยให้มีความหวานมันมากขึ้น ประมาณ 15 นาที (หากอยากให้แป้งมีความเข้มข้นสามารถพักทิ้งไว้นานกว่านี้ได้)
- นำบัวลอยพร้อมกับน้ำกะทิตักขึ้นใส่ถ้วย พร้อมกับใส่ไข่หวาน และจัดเสิร์ฟได้เลย
2. กล้วยบวชชี
กล้วยถือว่าเป็นวัตถุดิบคู่ครัวคนไทย หาซื้อได้ง่าย มีสารอาหารหลากหลาย จึงทำให้ “กล้วยบวชชี” เป็นสูตรขนมไทยยอดฮิตที่ใครได้ทานก็ต้องขอต่ออีกถ้วย เพราะมีทั้งรสชาติหวาน มัน เค็มจากทั้งกล้วยที่เหนียวหนึบ ไม่เละจนเกินไป ตัดกับน้ำกะทิที่อร่อยลงตัว
ส่วนผสมกล้วยบวชชี
- กล้วยน้ำว้าห่าม 8 ลูก
- หัวกะทิ 225 มล.
- หางกะทิ 300 มล.
- น้ำตาลปี๊บ 30 กรัม
- น้ำตาลทรายขาว 20 กรัม
- ใบเตย
- เกลือ 1/4 ช้อนโต๊ะ
- แป้งมัน 1 ช้อนชา
วิธีทำกล้วยบวชชี
- นำกล้วยน้ำว้านึ่งโดยใช้เวลาประมาณ 5 นาที เพื่อให้ผิวของกล้วยเริ่มแตกออก หรือหากใครไม่มีที่นึ่งสามารถใช้วิธีการต้มกล้วยในน้ำเดือดแทนได้ค่ะ
- นำกล้วยมาปอกเปลือกแล้วหั่นเป็นชิ้นๆ ให้พอดีคำ
- ตั้งหม้อโดยใส่หางกะทิลงไปในหม้อ เพื่อเพิ่มความหอมให้น้ำกะทิให้ใส่ใบเตยตามลงไปจนน้ำเดือด หลังจากนั้นจึงใส่น้ำตาลปี๊บ น้ำตาลทราย และเกลือ คนให้ส่วนผสมทั้งหมดเข้ากันดีแล้วจึงใส่กล้วยลงไปในหางกะทิ
- รอจนน้ำกะทิเดือดให้ใส่หัวกะทิตามลงไป หากใครอยากได้น้ำกะทิที่เหนียวข้นขึ้นสามารถใส่แป้งมันลงไปเพิ่มได้ในขั้นตอนนี้ค่ะ
- ต้มต่อจนจนน้ำกะทิ และกล้วยเดือดอีกครั้ง ระวังอย่าต้มนานจนเกินไปเพราะอาจจะทำให้กล้วยเละได้ค่ะ หลังจากนั้นพร้อมนำเสิร์ฟได้เลย
3. สังขยาฟักทอง
ขนมที่ผสานผลไม้อย่างฟักทองกับความหวานของสังขยาอย่างลงตัว เป็นสูตรขนมไทยที่จะให้รสชาติหวานละมุนลิ้นแบบไม่เลี่ยน เพราะด้วยฟักทองนึ่งจะได้เนื้อนุ่มๆ ทานคู่กับสังขยาเนื้อเนียนหวานพอดี รับรองว่าอร่อยแบบเพลินๆ

ส่วนผสมสังขยาฟักทอง
- ฟักทอง 1 ลูก
- กะทิ 200 มล.
- ไข่ไก่ 2 ฟอง
- ไข่เป็ด 2 ฟอง
- น้ำตาลปี๊บ 180 กรัม
- เกลือ 1 ช้อนชา
- ใบเตย
วิธีทำสังขยาฟักทอง
- เตรียมฟักทองให้พร้อม โดยนำฟักทองที่คว้านฝาแล้วมาคว้านเมล็ดออกให้หมด ให้เหลือเพียงแต่ใยด้านในให้เก็บเอาไว้ เพื่อช่วยยึดตัวสังขยาไม่ให้หลุดออกเวลานำไปนึ่ง หลังจากนั้นล้างทำความสะอาดฟักทองทั้งด้านใน และด้านนอก และพักทิ้งไว้ให้ฟักทองแห้ง
- ทำสังขยาโดยการตอกทั้งไข่ไก่ และไข่เป็ดลงในชามผสม ตามด้วยกะทิ น้ำตาลปี๊บ พร้อมเติมกลิ่นหอมด้วยใบเตยลงไป หลังจากนั้นผสมส่วนผสมทั้งหมดให้เข้ากันด้วยวิธีการขยำ เพื่อให้ได้สังขยาที่เนื้อเนียน ให้กรองส่วนผสมด้วยผ้าขาวบาง หรือกระชอนตาถี่ แนะนำให้กรองส่วนผสมมากกว่า 1 ครั้ง
- เทสังขยาลงในฟักทองในปริมาณที่เหลือบริเวณด้านบนไว้เล็กน้อย เพราะเมื่อนำไปนึ่งสังขยาจะฟูตัวขึ้นมาอีก และหากเทแล้วเกิดฟองให้ตักออกจนหมดเพื่อให้ได้สังขยาที่หน้าเนียน
- นำฟักทองสังขยาไปนึ่งประมาณ 45 นาที เพื่อความชัวร์ว่าสังขยาสุกดีแล้วให้ใช้ไม้จิ้มปลายแหลมจิ้มลงไป ถ้าหากไม่มีเนื้อสังขยาติดขึ้นมาตามไม้จิ้มแสดงว่าเนื้อสังขยาสุกดี แต่หากจิ้มแล้วติดออกมาให้นึ่งต่อ และใช้วิธีเช็คเรื่อยๆ
- จากนั้นไปแช่ตู้เย็นเพื่อให้ฟักทองสังขยาเซ็ตตัว และนำมาจัดเสิร์ฟได้ โดยอาจจะตัดแบ่งเป็นชิ้นๆ ให้รับประทานได้ง่ายขึ้น
4. ขนมต้ม
ขนมต้มอาจจะหาทานยากหน่อยในสมัยนี้ แต่ก็ยังคงเห็นได้ตามงานมงคลต่างๆ ด้วยความเชื่อว่าเป็นขนมของเทพเจ้า ซึ่ง “ขนมต้ม” ให้รสสัมผัสแบบเหนียวนุ่มที่ห่อหุ้มด้วยไส้มะพร้าว แบบหวานกลมกล่อมอย่างลงตัว

ส่วนผสมทำไส้ขนมต้ม
- มะพร้าวขูด 300 กรัม (แนะนำให้ใช้เป็นมะพร้าวทึนทึก หรือมะพร้าวกลางอ่อนกลางแก่)
- น้ำตาลปี๊บ 200 กรัม
- น้ำลอยดอกมะลิ หรือน้ำเปล่า
ส่วนผสมแป้งขนมต้ม
- แป้งข้าวเหนียว 300 กรัม
- น้ำใบเตย 80 มล.
- หัวกะทิ
ส่วนผสมคลุกหน้าขนมต้ม
- มะพร้าวขูด 100 กรัม
- เกลือป่น 1/2 ช้อนชา
วิธีทำขนมต้ม
- นำมะพร้าวขูด น้ำตาลปี๊บ และน้ำลอยดอกมะลิ หรือหากไม่มีสามารถใช้น้ำเปล่าได้ ใส่ทั้งหมดลงในกระทะ ด้วยไฟกลาง และคนจนน้ำตาลปี๊บละลายหมด หลังจากนั้นให้ใช้ไฟอ่อน และผัดไส้ไปเรื่อยๆ จนแห้งจึงยกลงจากเตา และพักไว้ให้พออุ่น
- เมื่อไส้ขนมต้มเย็นลงแล้วให้นำมาปั้นเป็นก้อนกลมขนาดประมาณปลายนิ้วโป้ง หากใครอยากให้ขนมต้มมีกลิ่นหอมสามารถนำไส้ไปอบควันเทียนได้ในขั้นตอนนี้
- จากนั้นมาทำตัวแป้งขนมต้มด้วยการผสมแป้งข้าวเหนียว และค่อยๆ ทยอยใส่น้ำใบเตย และหัวกะทิเข้าด้วยกัน ค่อยๆ นวดจนส่วนผสมทั้งหมดเข้ากันจึงเติมน้ำใบเตย และหัวกะทิเพิ่มเข้าไปอีก วิธีนี้จะช่วยให้แป้งเหนียวนุ่มขึ้น
- นำผ้าขาวบาง หรือพลาสติกแร็ปมาคลุมแป้งเพื่อพักแป้งทิ้งไว้ประมาณ 5 นาที
- นำมะพร้าวที่ขูดไว้แล้วไปนึ่งให้สุก แล้วนำมาคลุกกับเกลือ
- มาเริ่มนำขนมไปต้มให้สุกกันเลย ตั้งกะทะด้วยไฟกลาง ใส่น้ำเปล่า พร้อมกับใบเตยลงไปเพื่อเพิ่มกลิ่นหอม
- เมื่อน้ำเดือดให้ปั้นแป้งก้อนกลมๆ แล้วจึงแผ่แป้งออกเป็นแผ่นบางๆ เพื่อใส่ไส้ที่เราเตรียมเอาไว้ ให้ตัวแป้งหุ้มตัวไส้ให้มิด หลังจากนั้นจึงปั้นแป้งเป็นก้อนกลมๆ
- ใส่ลงไปในกะทะที่น้ำเดือดแล้ว รอจนตัวแป้งลอยขึ้นมาบนผิวน้ำ แล้วจึงค่อยๆ ช้อนตัวแป้งขึ้นมา ระหว่างนั้นต้องสะเด็ดน้ำจากตัวแป้งออกให้มากที่สุด แล้วจึงนำแป้งที่ได้ไปคลุกกับมะพร้าวขูดผสมเกลือที่เตรียมเอาไว้ ทำต่อจนหมด พร้อมกับนำเสิร์ฟได้เลย
5. ทองหยิบ
ทองหยิบสูตรขนมไทยที่มีมายาวนาน แต่ด้วยความอร่อยจึงทำให้ยังมีมาถึงปัจจุบัน ความอร่อยของทองหยิบได้มาจากไข่แดงของไข่เป็ดล้วนๆ กับส่วนผสมของน้ำเชื่อม เรียกได้ว่าใครที่หลงรักความหวานจะต้องหลงรักสูตรขนมไทยทองหยิบแน่นอน

ส่วนผสมทองหยิบ
- ไข่เป็ด 6 ฟอง
- ไข่ไก่ 6 ฟอง
- น้ำตาลทราย 1 กก.
- น้ำเปล่า 1 ลิตร
- กลิ่นมะลิ 1/2 ช้อนชา
วิธีทำทองหยิบ
- นำกะทะใส่น้ำเปล่าขึ้นตั้งไฟกลางตามด้วยน้ำตาลทราย ปล่อยให้น้ำตาลทราย และน้ำเปล่าละลายเป็นเนื้อเดียวกันโดยที่ไม่ต้องคน (หากคนอาจจะทำให้น้ำตาลเป็นเกล็ด) จึงตามด้วยกลิ่นมะลิเพื่อเพิ่มกลิ่นหอมให้กับทองหยอด
- ตักน้ำเชื่อมจากในกะทะประมาณ 1 ถ้วยตวง ออกมาเพื่อพักทิ้งไว้ให้น้ำเชื่อมเย็น ส่วนน้ำเชื่อมในกะทะรอจนน้ำเชื่อมข้นจึงปิดไฟ
- แยกไข่ของจากไข่เป็ด และไข่ไก่ แล้วนำไข่แดงของทั้งคู่มากรองด้วยผ้าขาวบางแล้วจึงจำไข่แดงตีด้วยตะกร้อจนไข่แดงขึ้นฟู จากนั้นจึงเตรียมนำไปหยอดในน้ำเชื่อม
- หยอดไข่แดงลงในน้ำเชื่อมในกะทะ โดยยกช้อนให้ไข่ไหลเป็นสาย และหยอดให้หมดในครั้งเดียว โดยไข่ที่ได้จะต้องมีขนาดใหญ่กว่าเหรียญสิบ และควรหยอดแต่ละชิ้นให้ห่างกันในกะทะเพื่อไข่จะได้ไม่ติดกัน
- เมื่อหยอดไข่เสร็จแล้วจึงเปิดไฟอ่อนๆ เพื่อให้ไข่สุกขึ้น หลังจากนั้นเมื่อไข่แดงสีเข้มขึ้นให้กลับด้านไข่ เพื่อให้ไข่สุกทั้งสองด้าน
- ตักไข่แดงที่สุกแล้วจากในกะทะไปพักในน้ำเชื่อมเย็นที่เราแบ่งเอาไว้เพื่อให้ไข่เย็นตัวลง
- จับจีบไข่แดงโดยใช้วิธีจับเป็น 3 จีบก่อนจะหย่อนลงไปในถ้วยตะไล และทิ้งไว้ในถ้วยประมาณ 1 ชั่วโมงเพื่อให้ขนมเซ็ตตัวเป็นรูปทรงในถ้วย เมื่อเซ็ตตัวดีแล้วก็เอาออกจากถ้วย และพร้อมเสิร์ฟได้เลย